4.การตรวจและการประเมินคุณภาพน้ำเชื้อ

                บทที่ 4 การประเมินคุณภาพน้ำเชื้อ (Semen evaluation)

       การประเมินคุณภาพน้ำเชื้อ (Semen evaluation) มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินศักยภาพของน้ำเชื้อของพ่อพันธุ์ที่หลั่งออกมาว่ามีความสมบูรณ์พันธุ์ หรือมีอัตราการผสมติดอยู่ในระดับใด เพื่อนำไปใช้ในการผสมเทียมต่อไป หลังจากประเมินคุณภาพน้ำเชื้อแล้วจะนำน้ำเชื้อเข้ากระบวนการเก็บรักษาให้คงคุณภาพเดิมโดยเร็วที่สุด ไม่ให้กระทบต่อตัวอสุจิ ในการประเมินคุณภาพน้ำเชื้อจะพิจารณาจาก
1. ปริมาตรของน้ำเชื้อที่รีดได้
2. สีของน้ำเชื้อ
3. ความขุ่นของน้ำเชื้อ
4. ปริมาณตัวเชื้ออสุจิ
5. ปริมาณตัวเชื้ออสุจิที่มีชีวิต
6. ปริมาณตัวเชื้ออสุจิที่ผิดปกติ


ขั้นตอนการประเมินคุณภาพน้ำเชื้อ

1. การตรวจวัดลักษณะที่มองเห็นด้วยตา
1.1 ลักษณะทั่วไป (Appearance)
ได้แก่ สี กลิ่น และการปนเปื้อน น้ำเชื้อที่รีดได้ต้องสะอาด ปราศจากฝุ่น ผง ขน ปัสสาวะ หรือมูล รวมทั้งกลิ่นของปัสสาวะที่อาจปนมากับน้ำเชื้อ หากมีสิ่งปนเปื้อนหรือเห็นเป็นตะกอนไม่ควรนำมาใช้ สำหรับสีของน้ำเชื้อ พ่อโคบางตัวมีสีเหลือง เนื่องจากสารสีไรโบฟลาวิน ซึ่งไม่เป็นอันตราย แต่ต้องแยกให้ออกจากปัสสาวะ น้ำเชื้อที่มีสีแดงแสดงว่ามีเลือดออกในขณะรีดเก็บน้ำเชื้อ หากมีเลือดออกในอัณฑะก่อนหน้าที่รีดเก็บหรือออกมาจากท่อทางเดินน้ำเชื้อน้ำเชื้อที่หลั่งออกมาจะมีสีน้ำตาล
1.2 ปริมาตร (Volume) สามารถวัดได้จากหลอดที่รองเก็บน้ำเชื้อ แต่หากต้องการวัดก็สามารถทำได้โดยใช้ปิเปตดูดวัด ในการรีดน้ำเชื้อโดยใช้ช่องคลอดเทียม ปริมาตรที่ได้จะมีปริมาตรน้อยกว่าการรีดด้วยเครื่องกระตุ้นไฟฟ้า การจดบันทึกปริมาตรของน้ำเชื้อเพื่อจะนำไปใช้ในการคำนวณการเติมน้ำยาละลายและการพิมพ์หลอดบรรจุน้ำเชื้อ รวมทั้งสามารถศึกษาเปรียบเทียบความสามารถในการหลั่งน้ำเชื้อในพ่อพันธุ์แต่ละตัว แต่ละครั้ง และในแต่ละฤดูกาลได้ ตามปกติน้ำเชื้อที่รีดได้จากพ่อโค จะมีปริมาตร 2-20 มล. สุกร 150-300 มล. แกะ 0.8-1.2 มล. สัตว์ชนิดเดียวกัน ที่อายุน้อยกว่า หรือมีขนาดตัวเล็กกว่า จะให้น้ำเชื้อในปริมาตรน้อยกว่า นอกจากนี้การรีดน้ำเชื้อบ่อยครั้งจะทำให้มีปริมาตรลดลง

                          รูปภาพที่ 1 การตรวจปริมาตรและความขุ่นใสของน้ำเชื้อหลังรีด
1.3 ความขุ่นใสของน้ำเชื้อ น้ำเชื้อที่มีตัวอสุจิเข้มข้น จะมีลักษณะขาวขุ่น หากน้ำเชื้อมีลักษณะใส แสดงว่ามีตัวอสุจิอยู่น้อย ในการหลั่งครั้งแรก จะมีตัวอสุจิเข้มข้นมากที่สุด โดยเฉพาะถ้ามีการเตรียมตัวพ่อพันธุ์เป็นอย่างดีในระยะก่อนการรีดเก็บน้ำเชื้อ ตัวอสุจิจะลดน้อยลงในการหลั่งครั้งที่ 2
1.4 วัดความเป็นกรดเบส (pH) โดยใช้เครื่องวัดความเป็นกรดเบสของน้ำเชื้อที่รีดได้ อาจจะใช้กระดาษสำหรับวัดความเป็นกรดเบสแทนโดยหยดน้ำเชื้อลงไป 1 หยด เมื่อกระดาษเปลี่ยนสี นำไปเปรียบเทียบกับสีมาตรฐาน ทำให้ทราบค่าความเป็นกรดเบสของน้ำเชื้อนั้น ซึ่งบ่งบอกถึงความผิดปกติได้ เช่น ค่า pH ที่ต่ำอาจจะเกิดการอักเสบในระบบสืบพันธุ์ได้ โดยปกติน้ำเชื้อโค และแพะแกะ มีค่า pH เท่ากับ 6.8 สำหรับสุกรมีค่า pH เท่ากับ 7.4


2. การตรวจแบบละเอียดด้วยกล้องจุลทรรศน์
2.1 การตรวจความเคลื่อนไหวของตัวอสุจิ (motility)
ควรตรวจที่อุณหภูมิร่างกาย เนื่องจากอุณหภูมิมีผลโดยตรงต่อการเคลื่อนไหวของอสุจิ จึงควรใช้เครื่องอุ่นสไลด์ที่วางอยู่บนแท่นวางวัตถุของกล้องจุลทรรศน์ เพื่อช่วยในการตรวจให้มีอุณหภูมิในช่วง 37-40 องศาเซลเซียส การตรวจการเคลื่อนไหวของอสุจิสามารถประเมินได้ 2 แบบ คือ
2.1.1 โดยการตรวจการเคลื่อนไหวแบบหมู่ (wave motion characteristic) โดยปกติแล้วน้ำเชื้อที่เพิ่งรีดมาใหม่ อสุจิจะมีการเคลื่อนไหวเป็นลักษณะคล้ายคลื่น หรือฝูงลูกปลา โดยดูจากกล้องจุลทรรศน์ที่มีกำลังขยาย 40-100 เท่า วิธีการจะหยดน้ำเชื้อที่รีดมาได้ 1 หยด ลงบนแผ่นสไลด์ที่สะอาด อุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียส ไม่ต้องปิดด้วยกระจก coverslip ในน้ำเชื้อที่มีอสุจิเข้มข้นมากกว่า 300 เซลล์ (หรือตัว) ต่อลูกบาศก์เซนติเมตร จะเห็นตัวอสุจิว่ายวนหมุนเป็นคลื่น สามารถประเมินเป็นคะแนนการเคลื่อนไหวตั้งแต่ 0-5 คะแนน
2.1.2 โดยการตรวจการเคลื่อนไหวแบบตรงไปข้างหน้าโดยสังเกตเป็นรายตัว (proportion of progressive motile sperm) คือ การหาเปอร์เซ็นต์ตัวอสุจิที่เคลื่อนที่ไปข้างหน้าตรงๆ หรือเป็นการสังเกตการณ์เคลื่อนที่เป็นรายตัว ไม่รวมตัวที่เคลื่อนที่เป็นวงกลม เคลื่อนถอยหลัง หรือแกว่งไปมาเหมือนลูกตุ้ม เป็นการตรวจสอบหาสัดส่วนของอสุจิที่ยังคงมีชีวิต ด้วยกล้องจุลทรรศน์กำลังขยาย 400 เท่า โดยการหยดน้ำเชื้อลงบนแผ่นสไลด์ที่สะอาดที่ อุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียส และปิดด้วยกระจก coverslip อาจจะเจือจางด้วยน้ำยาละลาย หรือน้ำเกลือ เพื่อทำให้มองเห็นเซลล์ได้ง่าย แต่ต้องระมัดระวังไม่ใช้น้ำยาที่มีความเข้มข้นเกินไปจนน้ำซึมออกจากเซลล์ ซึ่งเป็นอันตรายต่อตัวอสุจิ จากนั้นสังเกตและบันทึกอัตราการเคลื่อนที่ตรงไปข้างหน้า โดยสังเกตดูในหลายๆ พื้นที่ของแผ่นสไลด์ แล้วนับให้เป็น 100 ช่อง เช่น นับได้คะแนน 80% หมายถึง ใน 100 ตัวมีตัวอสุจิที่มีชีวิต 80 ตัว น้ำเชื้อที่ดีควรมีอัตราการเคลื่อนไหวรายตัวอย่างน้อย 60%

             วิดีโอที่ 1 การเคลื่อนไหวของอสุจิแบบตรงไปข้างหน้าโดยสังเกตเป็นรายตัว

ตารางที่ 1 แสดงการให้คะแนนการเคลื่อนที่ของอสุจิแบบคลื่น
คะแนน
ระดับ
ลักษณะการเคลื่อนที่
5

4

3

2

1
0
ดีมาก

ดี

ปานกลาง

ต่ำ

ต่ำมาก
อสุจิตาย
น้ำเชื้อเข้มข้นสูง เคลื่อนที่เป็นลูกคลื่น เร็ว สังเกตเป็นรายตัวไม่ได้ อสุจิประมารณ 90% หรือสูงกว่าจะเคลื่อนที่ได้
อสุจิเคลื่อนที่แรง แต่ความแรงยังน้อยกว่าระดับ 5 อสุจิเคลื่อนที่ประมาณ 70-85%
การเคลื่อนที่เป็นคลื่นเล็กน้อย เคลื่อนที่ช้า สามารถสังเกตการเคลื่อนที่เป็นรายตัวได้ อสุจิเคลื่อนที่ได้ประมาณ 45-65%
ไม่พบลักษณะคลื่น มีอสุจิเคลื่อนที่ได้ประมาณ 20-40% และเคลื่อนที่อ่อน
มีอสุจิเคลื่อนที่ประมาณ 10%
ไม่พบการเคลื่อนที่ของอสุจิ

2.2 การเปรียบเทียบสัดส่วนของอสุจิที่ยังมีชีวิตและที่ตายแล้ว หยุดการเคลื่อนไหว ทำได้โดย การย้อมสีเพื่อแยกอสุจิมีชีวิต และไม่มีชีวิต (differential staining of live and dead sperm) ซึ่งเป็นวิธีการที่นิยม และสะดวก สีที่นิยมใช้ คือ nigrosin - eosin ซึ่ง eosin จะไม่สามารถผ่านเข้าไปสู่ภายในเซลล์ของอสุจิที่มีชีวิตได้ ส่วนอสุจิที่ตายแล้วจะย้อมติดสีชมพูของ eosin ในการย้อมสีนอกจากใช้ 1% eosin แล้วยังใช้สีพื้นเพื่อให้มองเห็นชัดเจน ซึ่งได้แก่ 2% aniline blue หรือ 5% nigrosin เป็นต้น ทำให้พื้นมีสีดำของสีนิโกรซิน (nigrosin)ในการย้อมสีจะใส่สีลงใน 2.9% sodium citrate อุ่นและคนให้เข้ากัน จากนั้นกรองด้วยกระดาษกรองแบบกรองละเอียดปานกลาง เก็บรักษาในตู้เย็น ซึ่งสามารถนำกลับมาใช้ได้อีก นอกจากนี้การใช้เครื่องมือ ที่เรียกว่า เครื่องวิเคราะห์น้ำเชื้อ (photoelectric หรือ semen analyzer) ดูรูปแบบของการว่ายและการมีชีวิตรอดในขณะที่อสุจิผ่านโฟโตทิวป์ (phototube) ก็สามารถวิเคราะห์ผลได้
2.3 การตรวจความเข้มข้นของอสุจิ (sperm concentration) เป็นการนับจำนวนอสุจิที่มีอยู่ในน้ำเชื้อ 1 ลูกบาศก์เซนติเมตร ไม่แยกตัวเป็นตัวตาย สามารถทำได้หลายวิธี เช่น
2.3.1 นับจากฮีโมไซโตมิเตอร์ (haemocytometer) ใช้ชุดตรวจนับเซลล์เม็ดเลือดแดง ซึ่งเป็นปิเปตแก้วขนาดเล็กๆ ตรงกลางเป็นกระเปาะ มีลูกแก้วขนาดเล็กอยู่ภายใน ดูดน้ำเชื้อขึ้นมาถึงขีดกำหนด ให้วงโค้งแตะอยู่ที่ขีดพอดี (0.1 มล.) เช็ดปลายปิเปตให้แห้ง ดูดน้ำยาละลาย (เช่นน้ำเกลือ 4% หรือน้ำกลั่น เพื่อทำให้อสุจิตายหยุดการเคลื่อนไหว และเป็นการเจือจางด้วยสัดส่วนที่สามารถคำนวณกลับได้) เข้าไปในกระเปาะจนถึงขีดที่ใช้วัด (calibrate) (ปริมาตร 9.9 มล.) น้ำเชื้อจะถูกเจือจางเป็น 1:100 ใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้อุดปลายปิเปตทั้งสองข้าง เขย่าแรงๆ ไม่น้อยกว่า 3 นาที เพื่อทำให้อสุจิกระจายทั่วกัน หยดสองหยดแรกทิ้ง แล้วจึงนำไปใส่ในสไลด์พิเศษสำหรับใช้ในการนับ (counting chamber) ซึ่งมีสเกลแบ่งเป็นตารางเล็กๆ จำนวน 144 ตาราง แต่ละตารางมีปริมาตร 1/250 ลูกบาศก์มิลลิเมตร นับทั้งหมดเพียง 25 ตาราง
       การนับจะนับตัวอสุจิที่อยู่ในตาราง และที่แตะอยู่กรอบนอกของสี่เหลี่ยมที่จะนับเพียงสองด้าน นับรวมอสุจิที่มีแต่หัวเข้าไปด้วยแต่ไม่นับหางที่หลุดจากหัว
        การคำนวณความเข้มข้นของตัวอสุจิใน 1 ลูกบาศก์มิลลิเมตร เท่ากับ N x S x 250 /A
เมื่อ N = จำนวนอสุจิที่นับทั้งหมด a ตาราง
S = อัตราการเจือจาง
A = จำนวนตารางที่นับ
2.3.2 การประเมินความขุ่นของการผ่านลำแสง (optical density หรือ turbidity) ด้วยเครื่อง spectrophotometer เป็นวิธีที่ง่ายนิยมใช้กันในห้องปฏิบัติการผลิตน้ำเชื้อ จากการผสมน้ำเชื้อ 0.1 มล. ลงในน้ำยาละลาย เช่น 2.9 โซเดียมซิเตรท (sodium citrate) 7.9 มล. นำไปวัดผลการผ่านของแสงที่ความยาวคลื่น (wavelength) 550 มิลลิไมครอน คำนวณหาความเข้มข้นของตัวอสุจิจากกราฟมาตรฐาน วิธีการนี้สามารถใช้กับน้ำเชื้อปศุสัตว์ได้ทุกชนิด แต่ต้องกรองเอาน้ำเชื้อส่วนที่เป็นเจล ออกไปเสียก่อน
2.3.3 เครื่องนับจำนวนตัวเชื้ออัตโนมัติ (electronic particle counter) วิธีการ คือ ละลายน้ำเชื้อด้วยสารละลายน้ำเกลือให้มีสัดส่วน 1:6,000 นำไปผ่านรูเปิดของเครื่องซึ่งมีความดันไฟฟ้า (voltage) เปลี่ยนเป็นความต้านทานไฟฟ้า เกิดเป็นจังหวะความดัน (voltage pulse) และถูกนำไปขยายกำลัง แล้วแปลงค่าเป็นจำนวนตัว
2.4 การตรวจรูปร่างของอสุจิ (sperm cell morphology) ตามปกติในน้ำเชื้อจะมีตัวอสุจิที่มีรูปร่างผิดปกติปะปนมา ประมาณ 5% แต่ถ้าพบว่ามีความผิดปกติเกินกว่า 20% จะทำให้ความสมบูรณ์พันธุ์ลดลง อัตราการผสมติดต่ำลง เทคนิคของการดูรูปร่างของอสุจิ คือ การผสมน้ำเชื้อกับหมึกอินเดียนอิงค์ ที่มีคุณภาพดีลงบนปลายหนึ่งของสไลด์กระจก ทำการ smear ให้น้ำเชื้อกระจายเต็มสไลด์ให้บางๆ โดยใช้สไลด์กระจกอีกแผ่นหนึ่งแตะลงตรงหยดน้ำเชื้อ เอียงทำมุม 30 - 45 องศา ลากไปอีกด้านหนึ่งของแผ่นสไลด์ ให้เกิดฟิล์มบางๆ ทั่วแผ่น การนับอย่างน้อย 100 เซลล์ต่อ 1 ตัวอย่าง หรือทำการแผ่ให้น้ำเชื้อกระจายบางๆ แล้วย้อมด้วยสีวิลเลียม (willium) หรือสีคาร์บอลฟุคชิน (carbol fuchsin) ส่วนความผิดปกติของอะโครโซม (acrosome) ตรวจจากน้ำเชื้อที่ใส่ในฟอล์มอลซาไลน์ (formal saline) แล้วตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ แบบเฟสคอนทราสท์ (phase contrast)

                                  รูปภาพที่ 2 แสดงรูปร่างลักษณะของตัวอสุจิ
อ้างอิง
การผสมเทียม. 2554. http://www.dld.go.th/airc_urt/th/
กองผสมเทียม กรมปศุสัตว์ คู่มือฝึกอบรมการผสมเทียมโค. โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่ง
ประเทศไทย กทม. 190 หน้า
พรรณพิไล เสกสิทธิ์. 2548. เทคโนโลยีการผสมเทียมและปัญหาการสืบพันธุ์ปศุสัตว์. สำนัก
เทคโนโลยีชีวภาพการผลิตปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.
สัตวแพทยสภา. 2548. การผสมเทียมโค. กรมปศุสัตว์. การฝึกอบรมการผสมเทียมโคภายใต้
โครงการสงเสริมการเลี้ยงโคเนื้อล้านครอบครัว.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น