3.การรีดน้ำเชื้อ

               บทที่ 3 การรีดเก็บน้ำเชื้อพ่อพันธุ์ (Semen Collection)

       ในการรีดเก็บน้ำเชื้อพ่อพันธุ์เพื่อใช้ในการผสมเทียม พ่อพันธุ์จะต้องมีสุขภาพแข็งแรง ปราศจากโรค และพร้อมที่จะทำการผสมพันธุ์ และได้รับการฝึกหัดการรีดเก็บน้ำเชื้อก่อนที่จะดำเนินการรีดเก็บน้ำเชื้อ เพื่อนำไปผลิตเป็นน้ำเชื้อแช่แข็ง ปัจจัยที่สำคัญที่จะทำให้การรีดเก็บย้ำเชื้อมีคุณภาพ คือ การจัดการพ่อพันธุ์ด้านสุขภาพ มีการตรวจสุขภาพพ่อพันธุ์เป็นระยะ มีโปรแกรมการตรวจโรค มีโปรแกรมการให้อาหาร และการจัดการที่ดี

การจัดการพ่อพันธุ์เพื่อใช้ในการผสมเทียม      

   พ่อพันธุ์จะให้ผลผลิตน้ำเชื้อที่มีคุณภาพสูง ขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูให้พ่อโคอยู่ในสภาวะที่ดี หรือมีสุขภาพที่ดีปราศจากโรค มีการป้องกันและกำจัดโรคที่อาจติดมายังพ่อพันธุ์ พ่อพันธุ์ควรเลี้ยงอยู่ในคอกเดี่ยว มีการวางแผนตรวจสุขภาพและฉีดวัคซีนสม่ำเสมอ พ่อพันธุ์จะต้องปลอดโรค วัณโรค วัณโรคเทียม (พาราทูเบอร์คิวโลซีส) โรคแท้งติดต่อ บลูทังค์ ทริโคโมนาส แคมไพโรแบคเตอร์ เลปโตสไปโรซีส โบวายน์ไวรัลไดอะเรีย (Bovine viral diarrhea, BVD) โบวายน์ลิวโคซีส (Bovine leucosis, BL) และไอบีอาร์/ไอพีวี (IBR/IPV) หากตรวจพบพ่อพันธุ์เป็นโรคดังกล่าวต้องรีบนำออกจากโรงเรือน เนื่องจากเชื้อโรคจะออกมากับน้ำเชื้อ เป็นการแพร่กระจายเชื้อโรคให้แก่ตัวอื่นๆ เป็นจำนวนมาก และในระยะเวลาสั้น และมีการดูแลเรื่องความสะอาด พ่อพันธุ์ที่นำมารีดควรสะอาด ปราศจากฝุ่น ดิน หรือโคลน ซึ่งอาจจะปนเปื้อนลงในน้ำเชื้อ ควรปัดขนด้วยแปรง เล็มขนที่หนังหุ้มลึงค์ออกบ้าง และหากพื้นท้องสกปรกควรล้างทำความสะอาดก่อนการรีดน้ำเชื้อในระยะที่นานพอสมควรเพื่อให้แห้งก่อนการรีดเก็บน้ำเชื้อ เนื่องจากพื้นท้องที่เปียกเป็นตัวนำเชื้อแบคทีเรียได้มากกว่าพื้นท้องที่แห้ง และล้างหนังหุ้มลึงค์ด้วยเครื่องล้างก่อนการรีดจะเป็นการชำระล้างเชื้อแบคทีเรีย และหลังจากการรีดเก็บน้ำเชื้อแล้วควรล้างอีกครั้ง และเปลี่ยนแปลายประบอกสำหรับฉีดน้ำและกรวยพลาสติกสำหรับครอบทุกครั้งที่เปลี่ยนตัวพ่อพันธุ์เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
       สำหรับพ่อพันธุ์ที่มีอายุน้อยต้องได้รับอาหารที่เพียงพอ มีการจัดการที่ดี พ่อโคที่สามารถเก็บน้ำเชื้อได้อยู่ในช่วง 12 เดือน การให้อาหารเป็นผลโดยตรงต่อการพัฒนาด้านการสืบพันธุ์ หากจำกัดอาหารพลังงาน อัตราการเจริญเติบโตจะลดลง การเจริญของอัณฑะจะลดลง การขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายเป็นเวลานานทำให้การผสมติดต่ำ แต่ถ้าให้อาหารมากเกินไปทำให้พ่อพันธุ์อ้วน มีผลต่อการผสมติด
       ในการรีดเก็บน้ำเชื้อจำเป็นต้องมีตัวล่อ (dummy) สำหรับให้พ่อพันธุ์เกิดความรู้สึกกำหนัด ปีนขึ้นขี่เหมือนการผสมแบบธรรมชาติ ตัวล่อมี 3 ชนิด คือ ตัวเมีย ตัวผู้หรือตัวผู้ที่ตอนแล้ว และหุ่นที่ทำด้วยไม้หรือทำด้วยโลหะมีผ้าหรือหนังหุ้ม สำหรับพ่อโคการจูงพ่อพันธุ์ให้เดินทางด้านท้ายของตัวล่อ โดยการพาเดินวน แล้วจูงเข้ามาหาตัวล่อ ให้ปีนขึ้นขี่ตัวล่ออีกครั้งหนึ่ง เป็นการกระตุ้นกำหนัด ช่วยเพิ่มปริมาตรน้ำเชื้อและจำนวนตัวอสุจิ แตกต่างจากการจูงพ่อพันธุ์เข้าหาตัวล่อทันที นอกจากนี้หากต้องการให้พ่อพันธุ์มีความต้องการทางเพศเป็นปกติ สามารถรีดเก็บน้ำเชื้อได้มากกว่า 1 ครั้งต่อสัปดาห์ จำเป็นต้องเปลี่ยนตัวล่อ หรือหลีกเลี่ยงสิ่งรบกวนที่มีผลกระทบต่อความรู้สึกของพ่อพันธุ์ หรือเปลี่ยนแปลงสถานที่ หรือเปลี่ยนตำแหน่งที่ยืนรีดเก็บน้ำเชื้อเพื่อเพิ่มความสนใจมากขึ้นทำให้มีความกำหนัดสูงขึ้น

วิธีการรีดเก็บน้ำเชื้อ (Semen Collection)      
     เป็นขั้นตอนหนึ่งที่สำคัญในกระบวนการผสมเทียม มีวัตถุประสงค์เพื่อ ต้องการให้ได้น้ำเชื้อที่มีคุณภาพ มีจำนวนอสุจิสูงที่สุด ซึ่งต้องใช้ความรู้ ความชำนาญของผู้รีด ความพร้อมของอุปกรณ์ ตัวสัตว์
1. การเตรียมวัสดุ อุปกรณ์และสถานที่     

   ในกระบวนการรีดเก็บน้ำเชื้อ อุปกรณ์ที่ใช้รีดจะต้องสะอาด ปราศจากเชื้อโรค โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่ต้องสัมผัสกับน้ำเชื้อ สถานที่จะต้องเงียบ และสะอาด การรีดน้ำเชื้อควรรีดในที่ร่ม สถานที่ควรเน้นถึงความแข็งแรงและความปลอดภัยสำหรับผู้รีดด้วย เนื่องจากบางครั้งพ่อพันธุ์อาจมีอารมณ์ร้าย
                               รูปภาพที่ 1 แสดงการเตรียมอุปกรณ์ก่อนการรีดน้ำเชื้อ
2. วิธีการรีดน้ำเชื้อ
    วิธีการรีดน้ำเชื้อมีหลายวิธี ได้แก่
1. การใช้ช่องคลอดเทียม ซึ่งเป็นวิธีการที่นิยมใช้ใน โค แพะ แกะ ม้า
2. การสวมถุงยางที่อวัยวะเพศเมีย เพื่อเก็บน้ำเชื้อจากการผสมจริง มักใช้ใน โค และ ม้า แต่ไม่ค่อยนิยม
3. การล้วงทวารหนัก และนวดที่บริเวณ vesicular glands และ ampullae ใช้ในโค แต่น้ำเชื้อที่ใช้ไม่ค่อยมีคุณภาพ มีคุณภาพต่ำ
4. การใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า (electroejeculation method) ใช้กับพ่อพันธุ์ที่มีปัญหา เช่นไม่เคยฝึกรีดมาก่อน ไม่เชื่อง
5. การบีบที่ปลายลึงค์ (glove hand technique)
6. การนวดที่บริเวณก้น และลูบหลัง
ใช้ในสัตว์ปีก

การรีดน้ำเชื้อโดยใช้ช่องคลอดเทียม (Artificial vagina)     
                            รูปภาพที่ 2 แสดงการรีดน้ำเชื้อพ่อพันธุ์ด้วยการใช้ช่องคลอดเทียม
   เป็นวิธีการที่ดีที่สุด และนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในการรีดเก็บน้ำเชื้อจากโคนม โคเนื้อ สุกร เนื่องจากน้ำเชื้อที่รีดได้สะอาดจึงสามารถขจัดปัญหาที่มาจากการติดเชื้อ

ในโค     
ลักษณะของช่องคลอดเทียม ประกอบด้วย กระบอกยางกลมแข็ง (outer casing) ความยาว 40 cm. เส้นผ่านศูนย์กลาง 6.4 cm. ท่อยางอ่อน (inner liner) สอดเข้าข้างใน และม้วนปิดปลายทั้ง 2 ข้างของกระบอก และรัดด้วยยาง จะทำให้เกิดช่องว่างสำหรับบรรจุน้ำอุ่นเกิดขึ้น ระหว่างท่อปลายด้านหนึ่งของกระบอกจะสวมด้วยกรวยยาง (collecting funnel) และหลอดเก็บน้ำเชื้อ ที่บริเวณกลางของท่อกระบอกยางแข็งจะมีที่เปิดปิด เพื่อให้ง่ายต่อการบรรจุน้ำ และมีวาล์วเพื่อเป่าลมเข้าไป ทำให้ท่อยางอ่อนพอง ทำให้กระชับ สำหรับอุณหภูมิของน้ำอุ่น โดยทั่วไปประมาณ 45 องศาเซลเซียส และหลอดบรรจุน้ำเชื้อ ควรมีความอุ่นใกล้เคียงกับอุณหภูมิร่างกายของโค ควรมีปลอกป้องกันแสง ควรสวมตลอดกรวยยาง
                  วิดีโอที่ 1 การเตรียมพ่อพันธุ์และการรีดน้ำเชื้อโค (ที่มา; กบนอกกะลา)
       ในการรีดน้ำเชื้อ ก่อนรีดควรทาวัสดุหล่อลื่นที่สะอาด และไม่เป็นพิษ เช่น K-Y jelly ที่ปากช่องคลอดเทียมก่อน โดยทาด้านปลาย และใช้แท่งแก้วคนเข้าไปในท่อยางอ่อน เพื่อให้มีความหล่อลื่นคล้ายธรรมชาติ จากนั้นเมื่อพ่อพันธุ์จะขึ้นทับตัวล่อ ให้ผู้รีดใช้มือจับที่ sheath หุ้มลึงค์ เอาปากช่องคลอดเทียม จ่อตั้งมุมในทิศทางเดียวกับลึงค์ พ่อพันธุ์จะหลั่งน้ำเชื้อ ในระหว่างการรีดอาจเกิดความเสียหายได้จากปัจจัยต่างๆ เช่น การช็อคจากอุณหภูมิต่ำ (cold shock), แสงแดด, สิ่งปลอมปนต่างๆ เช่น ปัสสาวะ สารหล่อลื่น หรือการติดเชื้อจากความไม่สะอาดของอุปกรณ์และเครื่องมือที่ใช้

ในสุกร     การหลั่งน้ำเชื้อของสุกร สามารถแบ่งได้เป็น 3 ส่วน คือ
1. ส่วนที่มีลักษณะใส และมีเม็ดสาคูปน ซึ่งปกติจะทิ้ง
2. ส่วนที่มีลักษณะขุ่นข้น (sperm-rich pertion) และมีเม็ดสาคูปนออกมาด้วย ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว จะเก็บเอาส่วนนี้ไปทำน้ำเชื้อไปเจือจางเพื่อไว้ใช้ เนื่องจากใน seminal plasma มีเอนไซม์บางชนิดที่ทำให้ผนังเซลล์ของอสุจิเสื่อมสภาพเร็วขึ้น
3. ส่วนที่มีลักษณะใส และมีเม็ดสาคูเป็นจำนวนมาก
       การรีดเก็บน้ำเชื้อในสุกรจะใช้หุ่นตัวล่อที่ทำด้วยไม้หรือโลหะมีกระสอบคลุม อาจจะเปลี่ยนเป็นแม่สุกร แต่สิ่งแวดล้อมโดยรอบควรเงียบไม่มีเสียงรบกวนทำหลายความกำหนัดของพ่อพันธุ์ ช่องคลอดเทียมของสุกรมีหลายแบบที่ทำให้เกิดความดันกับลึงค์ที่มีลักษณะเป็นเกลียว จะได้ล็อคในขณะที่ลึงค์แข็งตัวเต็มที่ คล้ายกับอยู่ในช่องคลอดหรือหลืบในปากมดลูกของสุกร กระบอกยางที่ใช้เป็นท่อยางหนา เส้นผ่านศูนย์กลาง 4.5 ซม. ยาว 12.5 ซม. มีผ้ายางบุอยู่ภายใน และมีแผ่นฟองน้ำชิ้นเล็กๆ อยู่ระหว่างตัวกระบอกกับผ้ายาง ช่วยเพิ่มความดันให้แก่ลึงค์ เติมน้ำร้อนอุณหภูมิ 45-50 องศาเซลเซียส ลงในช่องคลอดเทียม สอดผ้ายางที่บางเรียบทรงกระบอกยาว 40 ซม. เส้นผ่านศูนย์กลาง 3-3.5 ซม. และมีรูเล็กๆ ที่ด้านบน เข้าไปในช่องคลอดเทียม ด้านหนึ่งผูกติดกับด้านนอกทาสารหล่อลื่น ปลายอีกด้านหนึ่งต่อกับขวดพลาสติกหรือถุงบรรจุ 500 มล. สำหรับรองรับน้ำเชื้อแช่อยู่ในน้ำอุ่น 39 องศาเซลเซียส เมื่อลึงค์ของพ่อสุกรสอดเข้าไปในช่องคลอดเทียม มือของคนรีดบีบปลายของลึงค์ ผ่านทางผ้ายางเพื่อกระตุ้นให้เกิดความดัน ในการรีดน้ำเชื้อสุกรจะใช้เวลาประมาณ 3-20 นาที แต่ส่วนใหญ่ใช้เวลา 5-6 นาที
       การทำความสะอาด และการเก็บรักษาอุปกรณ์ การล้างทำความสะอาด และการฆ่าเชื้อช่องคลอดเทียมเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งควรทำความสะอาด และฆ่าเชื้อทันทีเมื่อรีดเสร็จ แต่หากทิ้งไว้นานควรแช่ และทำความสะอาดในน้ำอุ่นจนสะอาด ปลอกนอกที่เป็นยางแข็งควรล้างด้วยน้ำที่มีส่วนผสมของ detergent แล้วล้างให้สะอาด และตากให้แห้ง ท่อยางอ่อนและกรวยยาง ควรล้างและขัดออกในน้ำที่มีส่วนผสมของ detergent แล้วล้างด้วยน้ำให้สะอาดและตามด้วยน้ำกลั่น จากนั้นแช่ใน 70% isopropyl หรือ ethyl alcohol นาน 5 นาที หรือใช้วิธีต้มเป็นเวลา 15 นาที ก่อนที่จะล้างด้วย alcohol จากนั้นนำไปตากให้แห้ง

การรีดน้ำเชื้อโดยใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า (electroejeculator)

ในโค
 อุปกรณ์ที่ใช้ ประกอบด้วย electrode ที่มี 2 ขั้ว และเครื่องควบคุมกระแสไฟฟ้า ซึ่งมีไฟขนาด 0-30 volt และกระแสไฟฟ้า 0.5-1 amp ก่อนที่จะทำการสอด electrode เข้าที่ช่องคลอดในตำแหน่งเหนือ accessory glands จะต้องทำความสะอาดล้างมูลออกจากทวารหนักให้หมดก่อน จากนั้นใช้สารหล่อลื่นทาที่ปลาย electrode เมื่อสอด electrode เข้าแล้วทำการกระตุ้นด้วย voltage ที่ต่ำก่อน จึงค่อยๆ เพิ่ม ก่อนที่จะเพิ่มจะต้องปรับกระแสไปที่ระดับ 0 ก่อนทุกครั้ง ในการกระตุ้นควรกระตุ้นให้เป็นจังหวะ จังหวะละประมาณ 4 วินาที การปรับจังหวะให้กระทำไปอย่างต่อเนื่องจนกว่าโคจะหลั่งน้ำเชื้อออกมา
     น้ำเชื้อที่ได้จากการกระตุ้นด้วยไฟฟ้า จะมีปริมาตรมาก แต่มีความเข้มข้นของอสุจิต่ำกว่าเมื่อเทียบกับการใช้ช่องคลอดเทียม แต่อัตราการผสมติดไม่แตกต่างกัน

การเตรียมพ่อพันธุ์ที่จะรีดเก็บน้ำเชื้อ    
      จูงพ่อโคออกมาที่ห้องรีดเก็บน้ำเชื้อ จูงให้เดินห่างจากตัวล่อพอสมควร ยังไม่ให้พ่อโคปีนขึ้นตัวล่อทันที ควรจูงพ่อโคให้เดินวน 2-3 รอบ เพื่อกระตุ้นให้พ่อโคเกิดกำหนัด ซึ่งสามารถสังเกตเห็นว่ามีน้ำ seminal vesicle หยดจากรูเปิดของหนังหุ้มลึงค์ พ่อโคบางตัวลึงค์อาจจะโผล่มานอกหนังหุ้มลึงค์ แสดงว่าเป็นระยะที่เหมาะสมสำหรับการรีดเก็บน้ำเชื้อแล้ว
     ตามธรรมชาติพ่อโคจะแสดงความสนใจโคตัวเมียที่เป็นสัดหรือตัวล่อโดยการเอาคางไปเกยที่บั้นท้ายของแม่โคและจะเลียดมที่บริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ มีการยกริมฝีปากบนขึ้นซึ่งเป็นผลมาจากฮอร์โมนฟีโรโมน (pheromone) ต่อมาโคพ่อจะปีนขึ้นขี่ตัวเมียตัวล่อ ลึงค์จะออกมาสอดส่ายหาช่องคลอด ยืดลำลึงค์ออกมาตลอดความยาวเพื่อสอดใส่เข้าไปในช่องคลอด ให้ผู้ทำการรีดเก็บน้ำเชื้อยืนอยู่ใกล้ตำแหน่งที่พ่อโคจะปีนขึ้นขี่ตัวล่อ ผู้รีดควรเอาไหล่ซ้ายแตะที่สีข้างพ่อโค ลากขาซ้ายไปด้านหลัง ป้องกันมิให้โคเหยียบ ถือช่องคลอดเทียมด้วยมือขวาเอียงให้ทำมุมกับพื้นประมาณ 35 องศาเซลเซียส ให้ปลายที่จะสอดลึงค์อยู่ด้านล่าง การสอดช่องคลอดเทียมเข้าไปในลำลึงค์ให้กระทำอย่างนิ่มนวล ไม่ฝืนจนทำอันตรายกับลำลึงค์ซึ่งจะทำให้พ่อโคบาดเจ็บ เมื่อลำลึงค์อยู่ในช่องคลอดเทียมที่มีความตึงและอุ่นเหมือนช่องคลอดแม่โค เป็นการกระตุ้นให้มีการกระแทกลึงค์ แล้วมีการหลั่งน้ำเชื้อ
      การรีดน้ำเชื้อห้ามเอามือจับลึงค์ ให้ใช้มือซ้ายจับหนังหุ้มลึงค์เบาๆ ให้ลึงค์สอดเข้าไปในช่องคลอดเทียม การสอดช่องคลอดเทียมเข้าหาลำลึงค์ต้องให้ทันเวลา ซึ่งต้องอาศัยประสบการณ์พอสมควร พ่อโคจะหลั่งน้ำเชื้อออกมาในขณะกระแทกช่องคลอดเทียมจะถูกผลักไปข้างหน้า อย่าฝืนทิศทางนี้ อาจจะเกิดอันตรายต่อลำลึงค์ได้ เมื่อมีการหลั่งน้ำเชื้อเสร็จสิ้นลงค่อยๆ ถอนช่องคลอดเทียมออกมา ให้ถือช่องคลอดเทียมด้านที่ใช้สอดลึงค์ตั้งขึ้น ค่อยๆ ดึงพ่อโคออกจากตัวล่อ ในบางครั้งพ่อโคอาจจะพุ่งเข้าชนคนรีด ต้องระวัดระวังเป็นพิเศษ มีการบังคับพ่อโคให้ดี เขบ่าน้ำเชื้อที่ค้างอยู่ในกระบอกให้ลงไปในหลอดเก็บน้ำเชื้อ แกะถุงหุ้มหลอดออกนำหลอดออกจากกรวยยาง แล้วนำไปยังห้องปฏิบัติการ ระมัดระวังมิให้สิ่งใดตกลงไปในหลอด


อ้างอิง
การผสมเทียม. 2554. http://www.dld.go.th/airc_urt/th/
กองผสมเทียม กรมปศุสัตว์ คู่มือฝึกอบรมการผสมเทียมโค. โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่ง
ประเทศไทย กทม. 190 หน้า
พรรณพิไล เสกสิทธิ์. 2548. เทคโนโลยีการผสมเทียมและปัญหาการสืบพันธุ์ปศุสัตว์. สำนัก
เทคโนโลยีชีวภาพการผลิตปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.
สัตวแพทยสภา. 2548. การผสมเทียมโค. กรมปศุสัตว์. การฝึกอบรมการผสมเทียมโคภายใต้
โครงการสงเสริมการเลี้ยงโคเนื้อล้านครอบครัว.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น